บทที่ ๕
สรุป
สรุป
บ้านในชุมชนบ้านสาขลาพอจะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัย ที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จากบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติ มาเป็นบ้านที่ซับซ้อนตามการดำเนินชีวิตอย่างตะวันตกที่เรียกว่า สากล
การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมจากแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบสมัยใหม่ แบบสากลนิยม คือเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ ตกแต่งทาสีฉูดฉาด ตามรูปแบบใหม่ของพื้นถิ่นนี้ เป็นการสะท้อนให้ทราบถึงฐานะความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน ทำให้เห็นสภาพของสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น
รูปแบบของอาคารรูปทรงสมัยใหม่นี้ถือเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของวิถีทางวัฒนธรรม การมีระเบียบวิธีการก่อสร้างคล้ายกัน เป็นลักษณะเฉพาะของพื้นถิ่น บ่งบอกลักษณะรวมทางสังคม เพราะได้ประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน เช่น ปัญหาของชุมชนนี้ก็คือปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น
กาลเวลาค่อยๆ ผ่านไป การครองชีพของผู้คนในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง คนเก่าๆ ล้มหายตายจากไป บ้างเห็นคุณค่าเรือนโบราณก็ช่วยกันซ่อมแซมให้คงอยู่รูปเดิม บ้างก็ดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับอาชีพที่ตนทำอยู่ บ้างทนแรงรบเร้าต่อความอยากได้เรือนงามๆ แบบสมัยใหม่ไม่ได้ก็รื้อขายแยกย้ายออกไปจากที่เดิม ส่วนนี้ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังถูกกลืนด้วยระบบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีประจำถิ่น สภาพความเป็นพื้นถิ่นของชุมชนหายไป
แล้วจะหาอะไรมาบ่งชี้ว่า ชุมชนย่านนี้เก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา!
ความนิยมชมชอบและหลงใหลในวัฒนธรรมของชาติอื่นมากเกินไป โดยมิได้ดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพสังคมดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการทำลายวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรมไทย
แต่ดั้งเดิมนิยมสร้างบ้านพักอาศัยแบบไทยๆ มีลักษณะสวยงาม มีความเป็นพื้นถิ่น รูปแบบของบ้านมีความเหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ วัสดุก่อสร้างและขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแท้จริง
เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกแพร่กระจายมากขึ้น จึงหันมาปลูกสร้างบ้านแบบตะวันตกกันทั่วไป บ้านแบบไทยเดิมถูกรื้อไปบ้าง ขายไปบ้าง
ปัจจุบันบ้านหลายบ้านในชุมชนจึงติดเครื่องปรับอากาศ ทั้งๆ ที่เป็นชุมชนบ้านชายทะเลมีลมพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปโดยไม่จำเป็น
การรักษาเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยเกี่ยวกับบ้านพักอาศัยควรที่จะกระทำในแนวประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องกระทำตามแบบดั้งเดิมไปเสียทุกอย่าง เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างหรือการใช้สอย แตกต่างไปจากอดีต