บทที่ ๓
รายละเอียดของอาคารที่ทำการศึกษา
เรือนพักอาศัยที่ได้ทำการศึกษาได้แก่เรือนของนางมัลลิกา เอียกพงษ์ มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่าเกิดมาก็เห็นเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นเรือนที่รับมรดกตกทอดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เรือนหลังนี้เป็นเรือนกลุ่ม ยกพื้นสูง เรือนประธานวางเรือนตามแนวแกนทิศตะวันออกและตะวันตก หน้าเรือนหันหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดขึ้นด้านนี้ ตัวเรือนเป็นไม้ถาวร ฝาเรือนเป็นไม้แผ่น หลังคามุงกระเบื้อง
ตัวเรือนยกใต้ถุนสูง มีระดับเรือนต่างกัน ๓ ระดับ คือ
- ระดับนอน
- ระดับระเบียงและครัว
ระดับทางเดินและระเบียง
ครัวอยู่ข้างเรือนประธาน และยังมีครัวอีกครัวหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการแยกครอบครัว เมื่อลูกๆ เติบโตออกเรือนแยกออกมา
หลังคาเดิมมุงด้วยจาก ต่อมาเป็นสังกะสีและปรับปรุงเป็นกระเบื้องในที่สุด
ภายในตกแต่งด้วยลวดลายฉลุเหนือประตูและใต้ขื่อ ทำให้มีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมมากขึ้น ชานแล่นส่วนกลางของตัวเรือน ทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอยร่วมกันระหว่างเรือนแต่ละหลัง
เรือนพักอาศัยบางเรือนต่อเติมเป็นร้านค้า โดยใช้พื้นที่บางส่วนของตัวเรือนที่มีอยู่แล้วต่อเติมกั้นผนังต่อชายคาออกเป็นเพิง เพื่อค้าขาย เช่นร้านขายของชำ ร้านขายอาหาร
ลักษณะของรูปแบบอาคารประเภทนี้ส่วนมากเป็นเรือนไทย มีพื้นที่ใช้สอยแยกส่วนกันระหว่างที่อยู่อาศัยกับส่วนที่เป็นร้านค้า
เรือนร้านค้า
เดิมใช้วัสดุก่อสร้างแบบพื้นถิ่น วางรูปตัวอาคารไปตามความยาวของลำคลอง โดยปรับสภาพรูปทรงของอาคารให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม หันหน้าอาคารสู่ถนนทางเดินเท้าและหันหลังสู่คลอง
ตัวเรือนเป็นเรือนชั้นเดียว ประตูเป็นบานเฟี้ยม เดิมเป็นแผ่นๆ ภายหลังเป็นบานติดต่อกันด้วยบานพับ ส่วนหน้าเป็นบริเวณของการวางสินค้า ส่วนหลังเป็นที่พัก
ผังเรือนร้านค้า
ศาลาท่าน้ำ
ลักษณะของศาลาหรือศาลาท่าน้ำ มีประโยชน์ใช้สอยในการหยุดพักและเป็นทางขึ้นลงเรือ ทั้งยังเป็นท่าเรือโดยสาร มีการจัดพื้นศาลาเป็นสองฝั่ง ยกพื้นเป็นระดับเดียวกัน มีช่องทางเดินแล่นกลาง
หลังคาเป็นจั่ว มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แกะสลักลายไทยงดงาม
โรงภาพยนตร์
ลักษณะเป็นอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กั้นฝาผนังด้วยแผ่นกระเบื้องแผ่นเรียบ หลังคามุงสังกะสีมีช่องบันไดขึ้นชั้นบนอันเป็นชั้นสองของโรงภาพยนตร์และห้องของพนักงานฉายภาพยนตร์
ผังโรงภาพยนตร์