บทที่ ๒
ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรม
ชุมชนบ้านสาขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณป่าชายเลน มีลำคลองเล็กๆ มากมายเชื่อมโยงติดต่อระหว่างคลองสรรพสามิตกับทะเลอ่าวไทย บ้านเรือนสร้างอยู่ริมคลองต่างๆ เหล่านี้ บ้านแต่ละหลังมีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งพอสรุปได้จากสภาพทั่วไป อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๕ รูปแบบ คือ
๑) เรือนพักอาศัย ประมาณ ๓๐๐ หลังคาเรือน
๒) เรือนพักอาศัยต่อเติมเป็นร้านค้า ๑๐ หลัง
๓) เรือนร้านค้า ๓๕ ร้าน
๔) อาคารทางด้านศาสนา ๑ แห่ง
๕) อาคารใช้ประโยชน์เฉพาะทาง ๑ แห่ง
- เรือนพักอาศัย หากแบ่งตามรูปแบบของรูปทรงหลังคาได้ ๓ รูปแบบ คือ รูปจั่วทรงไทย ทรงปั้นหยาและจั่วแบบรูปทรงสมัยใหม่ ซึ่งมีความลาดชันน้อยกว่าจั่วทรงไทย
- มีทั้งที่ปลูกสร้างแบบรูปทรงสมัยใหม่และเรือนไทย ที่เป็นเรือนไทยจะเป็นรูปแบบดั้งเดิม มีรูปแบบเรือนไทยภาคกลางทั่วไป ยกใต้ถุนสูง เดินรอดได้ ต่อมามีการทรุดตัวของแผ่นดินและการทับถมของตะกอนจากน้ำท่วม ทำให้ใต้ถุนต่ำลง ส่วนอาคารรูปแบบสมัยใหม่มักสร้างขึ้นใหม่
- หลายอาคารเป็นแบบผสมกัน ซึ่งมักเป็นการต่อเติมจากเรือนเดิม ลักษณะรูปแบบของเรือนจั่วแฝด พบได้ทั่วไป
- เนื่องจากเป็นเรือนที่ไม่มีแบบแผนตายตัว เจ้าของบ้านปลูกโดยการประยุกต์ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ส่วนมากเป็นแบบสองชั้น มีหลังคาจั่วที่มีความลาดชันน้อย วัสดุที่ใช้ทั้งหมดเป็นวัสดุในเชิงอุตสาหกรรม แต่ยังใช้เสาไม้หรือพื้นไม้ ฝาผนังนิยมตีไม้ซ้อนเกล็ดตามนอน ชั้นล่างอาจเป็นฝาไม้เช่นเดียวกับชั้นบนหรือก่ออิฐฉาบปูน หน้าต่างเป็นหน้าต่างสำเร็จรูป
- เรือนพักอาศัยเป็นเรือนที่สร้างขึ้นเพื่อสนองประโยชน์ในการอยู่อาศัยเท่านั้น เรือนประเภทนี้อาจจำแนกย่อยออกไปได้อีก ๓ ลักษณะตามรูปแบบของอาคารเท่าที่ปรากฎ คือ
๑) เรือนไทย
๒) เรือนสมัยใหม่
๓) เรือนไทยต่อเติม
ใช้พื้นที่บางส่วนของเรือน เช่น ระเบียง หรือต่อหลังคาด้านใดด้านหนึ่งของเรือนที่หันออกทางด้านถนน โดยวางสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือเปิดเป็นร้านขายอาหาร
เรือนร้านค้ามี ๒ รูปทรง คือ
แบบที่นิยมปลูกเป็นแบบชั้นเดียว หันหลังเรือนสู่คลอง หน้าร้านมีถนนทางเดินแล่นกลาง ร้านค้าปลูกอยู่ระหว่างสองฝั่งของถนน ปิดประตูร้านด้วยบานเฟี้ยมไม้ตลอดแนว
เรือนประเภทนี้จะอยู่กลางชุมชน ใกล้วัด เป็นตลาด ส่วนเรือนที่ตั้งอยู่ล้อมรอบหรือกระจายไกลออกไปจะเป็นเรือนพักอาศัยเป็นส่วนมาก
ส่วนหน้าเป็นที่ค้าขาย ส่วนหลังเป็นพักอาศัย และบางร้านเปิดเป็นร้านค้าอย่างเดียว เจ้าของไปพักที่อื่น ส่วนอีกรูปทรงหนึ่งเป็นเรือนแบบสมัยใหม่ ซึ่งสร้างร้านค้าโดยตรง กว้างใหญ่ มั่นคง ใช้เป็นอยู่อาศัยด้วย
วัดสาขลา> มีอาคารเหมือนกับวัดทั่วไป มีโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ กุฎิ
อาคารที่เป็นอาคารนอกเหนือจากอาคารต่างดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอาคารในลักษณะอื่นที่ปลูกสร้างอยู่ในชุมชน มีลักษณะที่ใช้ประโยชน์เฉพาะทาง แตกต่างออกไปอีกลักษณะหนึ่ง ได้แก่ อาคารโรงภาพยนตร์ ซึ่งน่าสนใจในการศึกษา และน่าแปลกใจที่ชุมชนซึ่งไม่ห่างไกลจากชุมชนเมืองมากนักจะมีโรงภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่จะมีถนน การเดินทางโดยเรือก็นับว่ายังไม่สะดวกพอที่ผู้คนจะออกไปหาความบันเทิงได้ การที่มีผู้สร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น คนหันไปให้ความนิยมโทรทัศน์และเทปบันทึกภาพ ซึ่งให้ความสะดวกมากกว่า โรงภาพยนตร์จึงเลิกลาไปและถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม
อาคารโรงภาพยนตร์ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่ยังมีสภาพให้เห็น เป็นโรงภาพยนตร์ที่จัดฉายภาพยนตร์ เป็นอาคารโล่ง เดิมมีเก้าอี้นั่ง มีชั้นลอยซึ่งเป็นชั้นสองแบบโรงภาพยนตร์ทั่วไป