อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่จรดชายทะเลตอนบนของอำเภอพระสมุทรเจดีย์มีอาณาเขตไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนส่วนใหญ่ทำสวนผลไม้ เช่น ฝรั่ง พุทรา แต่เดิมทำสวนมะพร้าวและทำน้ำตาลมะพร้าว ต่อมาระยะหลังเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง สวนมะพร้าวก็เริ่มหายไป ด้วยมลพิษจากโรงงานเหล่านั้น
ส่วนตอนใต้ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ติดกับชายทะเล ประชาชนบริเวณนั้นมีอาชีพการจับสัตว์น้ำ, ทำประมงชายฝั่ง, ทำนาเกลือ, เลี้ยงกุ้ง ปลา และปูทะเล
อำเภอพระสมุทรเจดีย์มีสถานที่สำคัญคือ พระสมุทรเจดีย์ อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า พระเจดีย์กลางน้ำ เพราะเดิมตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำ ปัจจุบันตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมาเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทุกๆ ปี จะมีงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ เป็นงานฉลอง ๙ วัน ๙ คืน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี (ประชา ผาทอง, ๒๕๔๐)
อำเภอพระสมุทรเจดีย์ แบ่งออกเป็น ๕ ตำบล ๓๘ หมู่บ้าน จำนวนประชากร ๕๔,๑๑๘ คน (กุมภาพันธ์, .๒๕๔๓)
ชุมชนบ้านสาขลา ตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้กรุงเทพมหานครลงมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของจังหวัดติดชายทะเลซึ่งเป็นแนวชายยฝั่งอ่าวไทยตอนในทั้งหมด บ้านสาขลาอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัด เรียกว่า ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
สภาพโดยทั่วไปของชุมชนบ้านสาขลาเป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ของป่าเขตร้อน มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุม มีความชื้นสูง มีปริมาณน้ำฝนมาก กลุ่มของสังคมพืชที่เกิดอยู่บริเวณป่าชายเลนจะเป็นสังคมพืชที่เกิดอยู่บริเวณปากแม่น้ำบนดินเลน หรือเลนปนทราย ที่มีน้ำท่วมถึงอยู่เสมอ ลักษณะโดยทั่วไปของป่าชายเลนจะเป็นแนวทอดยาวขนานไปตามชายฝั่งทะเล และตามแนวคลอง ระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปบ้าง เพราะบางบริเวณถูกแบ่งไปเป็นนากุ้ง
พันธุ์ไม้โดยทั่วไปที่ขึ้นอยู่มีไม้แสมขาว ขึ้นสลับกับแสมดำ ไม้โกงกาง ไม้ลำพูและจาก ถัดเข้าไปจะเป็นบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึงบ้างเป็นครั้งคราวจะพบต้นโพทะเล เหงือกปลาหมอ ปรงไข่
สัตว์ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ได้แก่ ปูแสม ปูก้ามดาบ ปลาตีน ตะกวด ปูทะเล นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น กุ้ง หอยชนิดต่างๆ และปลากระบอก
นกที่พบบ่อยในบริเวณนี้ได้แก่ นกดุเหง่า นกกระจ้อยป่าโกงกาง นกเอี้ยงหงอน ฯลฯ นกที่ใช้บริเวณป่าชายเลนเป็นแหล่งวางไข่ ได้แก่ นกยางเขียว กา นกแขวก
นอกจากนี้ยังมีนกอพยพที่หลบลมหนาวมาพักพิง และเป็นแหล่งหากินอีกมากมาย จนทำให้บ้านสาขลา เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักดูนกทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, พ.ศ.๒๕๔๐ )
ความเป็นมาของชุมชน
บ้านสาขลา สันนิษฐานว่าเป็นหมู่บ้านใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ด้วยที่บริเวณวัดสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีพระปรางค์องค์หนึ่งบริเวณหน้าวัด เข้าใจกันว่าสร้างในสมัยอยุธยา รูปทรงเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งสร้างลักษณะเดียวกันกับพระปรางค์วัดพระราม หรือพระปรางค์วัดมหาธาตุกรุงศรีอยุธยา เป็นพระปรางค์ที่ยอดเอนจากจุดตั้งฉากไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๕ องศา ชาวบ้านเล่าว่าพระปรางค์องค์นี้เอียงตั้งแต่เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ด้วยช่างสมัยนั้นเกรงว่าพื้นดินด้านชายคลองจะอ่อนกว่าด้านใน จึงเสริมฐานรากแข็งแรงกว่า เหตุนี้ด้านที่ฐานราก
พระปรางค์วัดสาขลา
น้อยกว่าจึงทรุดเอียงลง
แต่ก็ไม่ล้มเสียหาย
ในสมัยขุนหลวงสรศักดิ์
(พระเจ้าเสือ) ได้เคยเสด็จประพาสปากน้ำท่าจีน สมุทรสาคร โดยผ่านคลองโคกขาม
ย่านนี้ไม่ห่างจากหย่อมย่านบ้านนาเกลือ คืออยู่ระดับพื้นที่ใกล้เคียงกัน
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ชื่อบ้านสาขลาสืบเนื่องมาแต่สงครามเก้าทัพ ในสมัยรัชกาลที่
๑ มีการสู้รบกับพม่าในสมัยนั้น บรรดาชายฉกรรจ์ ต้องถูกระดมกวาดต้อนไปประจำกองทัพ เหลือแต่สตรีและเด็ก คนชรา บ้านสาขลาตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ใครมีทรัพย์สินเงินทองก็ฝังดินไว้ ชาวบ้านสาขลาต้องต่อสู้กับหน่วยกวาดล้างของพม่า เพราะบ้านสาขลาเป็นเสมือนทางเสือผ่านที่ต้องพลอยแหลกลาญไปด้วย เนื่องจากสมัยนั้นบ้านสาขลาอุดมไปด้วยข้าวปลา นาเกลือ
นับว่าเป็นแหล่งเสบียงสำคัญของกองทัพ
ด้วยมูลเหตุแห่งสงครามไทยกับพม่านี้เอง บ้านสาขลาจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าหมู่บ้านสาวกล้า เนื่องมาจากพม่ายกทัพผ่านมากวาดต้อนผู้คนและเสบียงอาหาร ทำลายทรัพย์สิน ทำลายหมู่บ้าน ผู้หญิงและคนชราเข้าต่อสู้ด้วยกลยุทธ์จนได้ชัยชนะที่บริเวณคลองชัย จึงมีชื่อเรียกว่าคลองชัย ติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาราว พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๔ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขุดคลองสรรพสามิต เชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน คลองสรรพสามิตเป็นคลองที่ขุดขึ้นโดยกรมสรรพสามิต ในสมัยรัฐบาลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า ไปทางทิศตะวันตก ผ่านตำบลนาเกลือ ตัดผ่านคลองขุนวรพินิจ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ผ่านคลองพิทยาลงกรณ์ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ออกสู่แม่น้ำท่าจีน
ทำให้สภาพพื้นที่บ้านสาขลาเปลี่ยนไป
โดยมีคลองตัดพื้นที่ออกจากกัน ชุมชนที่เป็นชุมชนใหญ่ถูกแบ่งออกไป
การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมจึงเปลี่ยนไปด้วย
ในปัจจุบันได้มีการตัดถนนจากถนนสุขสวัสดิ์เข้าไปถึงชุมชนบ้านสาขลา วิถีการดำเนินชีวิตยิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น มีแนวโน้มว่าการเดินทางโดยเรือที่ใช้กันมายาวนานนั้น จะเปลี่ยนเป็นรถยนตร์เหมือนๆ
กับสังคมเมืองทั่วไป (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, พ.ศ.๒๕๔๐)
สภาพพื้นที่หมู่บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าชายเลน มีความแปลกกว่าที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะสาขลาเป็นบ้านสามน้ำ สามป่า สามนาและสามหอย โดยมีความหมายมาจากทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของบ้านสาขลา ดังนี้
สามน้ำ คือมีทั้ง น้ำจืด ด้านติดต่อกับธนบุรีและเขตอื่น ซึ่งแต่เดิมนำน้ำจืดมาทำนาข้าวและทำสวนส้ม เลี้ยงปลาสลิดก็ยังได้ น้ำกร่อย พื้นที่ซึ่งสามารถนำน้ำจากบริเวณใกล้ปากอ่าว โดยคลองต่างๆ ที่อยู่ใต้คลองบางปลากดลงไป จากส่วนติดต่อระหว่างบางขุนเทียนจนถึงสมุทรสาคร น้ำเค็ม คือส่วนที่ติดกับทะเล
สามป่า คือป่าแสม ป่าจาก ป่าโกงกาง และยังมีป่าอีกส่วนหนึ่งซึ่งแต่เดิมเป็นเส้นทางการเดินทางจากบ้านสาขลาออกมาด้านคลองบางปลากด เป็นป่าที่มีสัตว์ป่า เช่น เก้ง สมัน เนื้อ เสือ ส่วนในน้ำมีจระเข้น้ำจืด>
สามนา คือ นาข้าว หมายถึงพื้นที่ด้านติดต่อน้ำจืด สามารถทำนาข้าวได้ นากุ้งและปลา ด้วยสภาพที่มีน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม จึงทำนากุ้งและนาปลาได้ ในยุคก่อนๆ เลี้ยงปลาสลิดด้วย นาเกลือ ด้านชายฝั่งทะเลสามารถดำเนินอาชีพทำนาเกลือได้ดี ทรัพยากรพร้อมมากทั้งที่ดิน น้ำทะเล ลม และแสงแดด
สามหอย ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรมและหอยกระพง (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ,
พ.ศ.๒๕๔๐)
การทำนาเกลือเป็นอาชีพหลักของชาวสาขลามาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ทำเฉพาะในฤดูแล้งกับฤดูหนาวประมาณ ๖ เดือน พอถึงฤดูฝนก็ต้องเลิกทำเพราะฝนตกมากทำนาเกลือไม่ได้ผล ชาวนาเกลือก็จะเปลี่ยนอาชีพไปทำการประมง เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทำให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ และเกลือในท้องที่ก็ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น เพราะต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นอ้างว่าเกลือของเรามีความเค็มน้อย เป็นเกลือที่มีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ราคาเกลือตกต่ำแพ้ที่อื่น ซึ่งชาวสาขลาส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนอาชีพใหม่ หันมาทำนากุ้งนาปูกันมากขึ้น
นาเกลือจึงเปลี่ยนสภาพเป็นวังกุ้งเสียเป็นส่วนมาก เพราะพื้นที่ทำนาเกลือกักขังน้ำไม่ให้รั่วไหลอยู่แล้ว การทำวังกุ้งต้องขังน้ำในนาให้อยู่ และทำประตูน้ำสำหรับระบายน้ำเข้า-ออก เพื่อไขน้ำทะเลเข้าในนา
การเลี้ยงหอยแครงในนากุ้งก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวสาขลาเริ่มทำกันในระยะหลังๆ ด้วยปรากฎว่าการเลี้ยงกุ้งเริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย
การเลี้ยงหอยแครงในนากุ้ง เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน การอยู่โดยไม่ทำลายกัน เจริญเติบโตอยู่ด้วยกัน โดยปกติหอยชนิดต่างๆ จะเก็บกินขี้ปลาอยู่แล้ว ส่วนการกินโคลนของหอบแครงนั้นเป็นการกินแพลงตอนและเศษอาหารจากสัตว์อื่นๆ นับเป็นยุทธศาสตร์การคิดที่ชาญฉลาดของชาวบ้าน
อาชีพใหม่ของชาวสาขลาอาชีพหนึ่งคือการเลี้ยงหอยนางลม กระทำกันชายฝั่งทะเล และบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง โดยใช้อิฐบล็อกและหินให้หอยมาเกาะตามธรรมชาติ เมื่อหอยโตพอประมาณก็จะแกะขาย หนึ่งกระป๋องนมตราหมีราคาประมาณ ๒๐๐ บาท
ส่วนอาชีพการประมง ชาวสาขลาส่วนใหญ่ทำการประมง พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ การประมงทะเล ได้แก่การทำโป๊ะน้ำลึก โป๊ะน้ำตื้นและเครื่องมือชายฝั่ง เช่น จำพวกเบ็ดราว ลอบทะเลและอื่นๆ ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือการประมงในฝั่ง ได้แก่การจับปลาตามลำคลองโดยใช้เครื่องมือ เช่น แห ลอบ เฝือก สวิงและอื่นๆ
บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีหมู่บ้านจำนวน ๘ หมู่บ้าน ๒,๐๒๐ ครัวเรือน จำนวนประชากร ๙,๙๗๔ คน (กุมภาพันธ์, .๒๕๔๓)
ประชากรส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นภายในชุมชนบ้านสาขลาจึงไม่มีศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ ตั้งอยู่เลย
ด้านการศึกษาของประชากร ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ทั้งนี้เนื่องจากบ้านสาขลามีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร โดยสามารถเดินทางไปเช้ากลับเย็นได้เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้น