| กลับหน้าหลัก |

ป้อมพระจุลจอมเกล้า

           "ป้อมพระจุลจอมเกล้า"  หรือที่นิยมเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า  “ป้อมพระจุลฯ”   ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา   ตำบลแหลมฟ้าผ่า  อยู่ห่างจากแยกพระสมุทรเจดีย์ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ประมาณ ๖ กิโลเมตร

           ป้อมพระจุลฯ เป็นป้อมที่ทันสมัย   และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ  ซึ่งเป็นที่ทำการยิงต่อสู้กับอริราชศัตรูมาแล้วครั้งหนึ่ง    เมื่อ  ร.ศ. ๑๑๒  (พ.ศ. ๒๔๓๖)  เป็นป้อมที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนไทย   และประวัติศาสตร์ชาติไทย   เพราะในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ทรงมีพระราชปรารถว่า   ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแสวงหาเมืองขึ้นบรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดเขตแดนไทย   พระองค์จึงทรงหาวิธีป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันทางน้ำ   ทรงเห็นว่าป้อมต่างๆ ที่เมืองสมุทรปราการ   ล้วนแล้วแต่เป็นป้อมเก่าล้าสมัยและชำรุดทรุดโทรมมาก  อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้ในการป้องกันบ้านเมืองได้   จึงทรงมีพระราชโองการให้ปรับปรุงและซ่อมแซมป้อมต่างๆ ขึ้น    และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดสร้างป้อมที่ทันสมัยขึ้นอีกแห่งหนึ่งเป็นการเร่งด่วน   โดยจ้างชาวต่างประเทศที่ชำนาญการทหารเรือเป็นที่ปรึกษาวางแผนในการปรับปรุงกิจการทหารเรือ   ในครั้งนั้นด้วย

           ป้อมพระจุลฯ ถูกจัดสร้างขึ้นต้นปี พ.ศ.๒๔๒๗  แล้วเสร็จลงเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๓๖  และเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนในปีเดียวกันนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเพื่อทอดพระเนตรป้อม  ทรงทดลองยิงปืนป้อมด้วยพระองค์เองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อป้อมแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า”  ดังความในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีตอนหนึ่งว่า

           "แต่มีความกำเริบทะเยอทยานอยู่อย่างหนึ่งซึ่งได้กล่าวไว้แล้วเก้าปักษ์เดือนล่วงมาว่า  ป้อมนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้   อยากจะให้ชื่อป้อมจุฬาลงกรณ์  ฤๅพระจุลจอมเกล้า  คล้ายกับป้อมทั้งปวงซึ่งเขาใช้ชื่อเจ้าแผ่นดินมีอยู่บ้าง  เช่น ฟอตวิลเลี่ยม เมืองกัลกัตตา เป็นต้น  ทั้งครั้งนี้จะได้สำเร็จเพราะทุนรอนซึ่งฉันจะอุดหนุนดังนี้  ก็ยิ่งมีความปรารถนากล้า  ถ้าท่านทั้งปวงเหนสมควรแล้ว  ขอให้เลือกนามใดนามหนึ่งเปนชื่อป้อมนี้  ให้เปนที่ชื่นชมยินดี  แลเปนชื่อเสียงของฉันติดอยู่สืบไปภายน่า"

           ภายในบริเวณป้อมพระจุลฯ  ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืนเด่นเป็นสง่า  อยู่บริเวณหน้าป้อมปืน  และนอกจากนั้นยังมีศาลพระนเรศนารายณ์    ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ป้อมพระจุลฯแห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น

           พระบรมราชานุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖  ความสูงทั้งหมด ๑๗.๕๐ เมตร  ขนาดพระบรมรูปสูง ๔.๒ เมตร  หรือสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง  ฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือ

  พระบรมรูปจำลอง  หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์

  เรือหลวงแม่กลอง  ปลดระวางแล้วจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์

  ทางเข้าบริเวณที่ตั้งปืนเสือหมอบและหินจารึก

  ปืนหลุมหรือปืนเสือหมอบ (Disappearing gun)  ปืนประจำป้อมพระจุลฯ  มีลักษณะเป็นปืนหลุมจำนวน  ๗  หลุม  แต่ละกระบอกมีขนาด ๑๒๕/๓๒  มิลลิเมตร  ความกว้างปากกระบอก ๑๕๒ มิลลิเมตร  ลำกล้องยาว ๔.๘๖๔ เมตร  หนัก ๕ ตัน  มีระยะยิงไกลสุด ๘,๐๔๖ เมตร  โดยสั่งมาจากบริษัท เซอร์ดับบลิวจีอาร์มสตรอง จำกัด> (Sir W.G. Armstrong &Co,)  ประเทศอังกฤษ  ถือเป็นปืนใหญ่บรรจุท้ายรุ่นแรกที่มีใช้ในกอบทัพเรือ  จึงทำให้ป้อมปืนแห่งนี้มีความทันสมัยที่สุดในขณะนั้น

           สำหรับประวัติศาสตร์ของการสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า   ในระยะหลังโดยเงินพระราชทางจากพระคลังข้างที่นั้น  ได้มีจารึกไว้ที่หน้าป้อมเป็นประจักษ์พยานปรากฎไว้ว่า

           “ศุภมัสดุ  ลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ เมษายนมาศ  ทสมทินประวัติสะสิวาร  บริเฉกกำหนดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์   บดินทรเทพยมหามงกุฎ  บุรุษยรัตนราชวิวงษ์วรุตพงษ์บริพัตร  วรขัตติยราชนิกโรดม  จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ  บรมธรรมมิกราชมหาราชา  บรมนาถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

           บุคคลสำคัญที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างและติตั้งปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า

           ๑. พลเรือโทกรมหมื่นปราบปรปักษ์   เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น  พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ

๒. พลเรือโทพระยาชลยุทธโยธิน  (Aodre Du Plessus De Richelieu) เป็นชาวเดนมาร์คซึ่งในขณะนั้นยังมียศเป็น พลเรือจัตวา  เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ  เป็นผู้ดำเนินการสั่งปืนใหญ่อาร์มสตรอง

๓. นาวาเอกพระชำนิกลการ  เมื่อครั้งมียศเป็นนายพันตรีสมบุญ (บุญยะกะลิน)  เจ้ากรมโรงงานเครื่องจักร

๔. พลเรือโทพระยาวิจิตรนาวี  เมื่อครั้งเป็น นายวิลเลี่ยม (บุญยะกะลิน)  ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาวิชาช่างกลจากประเทศอังกฤษ  เป็นผู้ควบคุมการติดตั้งปืนใหญ่ประจำป้อม

๕. ร้อยเอกฟอนโฮลต์  (C Von Holck)  ซึ่งเป็นครูสอนวิชาปืนใหญ่  เป็นผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้าคนแรก

ป้อมพระจุลจอมเกล้าสิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง  รวมทั้งปืนใหญ่ประจำป้อม  ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาท  หรือหนึ่งหมื่นชั่ง

  ภาพถ่ายทางอากาศ   บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า

| กลับ |