เรื่องสร้างเมืองสมุทรปราการ
ได้ข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ว่าองต๋ากุนเจ้าเมืองไซ่ง่อนเกณฑ์ไพร่ญวนบ้าง เขมรบ้าง ผลัดละ ๑๐,๐๐๐ คน ให้มาขุดคลองแต่ทะเลสาบมาออกเมืองไผทมาศ เป็นคลองกว้าง ๑๒ วา ลึก ๗ ศอก การที่ญวนขุดคลองนี้ เป็นเหตุให้คิดเห็นในกรุงเทพฯ ว่า ถ้าคลองที่ญวนขุดสำเร็จแล้ว ญวนอาจยกกองทัพเข้ามาตีหัวเมืองทางทะเลได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ทรงพระราชดำริเห็นว่าที่เมืองสมุทรปราการยังไม่มีที่ป้องกันมั่นคง จึงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ การหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองกับพระยาสุริยวงศ์โกษา ซึ่งได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ลงไปจัดการสร้างเมืองสมุทรปราการให้เป็นป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึก ในครั้งนั้นสร้างป้อมขึ้นทางฝั่งตะวันออก ๔ ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ๑ ป้อมนารายณ์ปราบศึก ๑ ป้อมปราการ ๑ ป้อมกายสิทธิ์ ๑ ชักปีกกาเชื่อมถึงกัน และสร้างตึกดินที่ไว้เครื่องศัสตราวุธและฉางข้าวไว้ในป้อมพร้อมสรรพ ที่เกาะกลางน้ำตรงหน้าเมืองสมุทรปราการ ให้สร้างป้อมขึ้นป้อม ๑ พื้น ๒ ชั้น ชื่อป้อมผีเสื้อสมุทร (๑) ข้างฟากตะวันตก สร้างป้อมหนึ่ง ชื่อป้อมนาคราช อนึ่ง ข้างเหนือเกาะป้อมผีเสื้อสมุทร มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำ ทรงพระราชดำริว่าจะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายนั้น แต่ยังหาทันได้สร้างในรัชกาลที่ ๒ ไม่ การสร้างเมืองสมุทรปราการ ได้ทำพิธีฝังหลักเมืองเริ่มเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ณ วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๖ บาท ได้ฤกษ์เอาแผ่นยันต์ ทอง, เงิน, ทองแดง, ดีบุกและศิลา ลงสู่ภูมิบาท แล้วยกเสาหลักเมือง ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๖ บาท ฝังอาถรรพณ์แผ่นยันต์องครักษ์อีกครั้งหนึ่ง
(๑) ในครั้งเมื่อสร้างป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น ยังแลเห็นทะเลได้จากป้อมนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ได้มีรับสั่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อท่านยังทรงพระเยาว์ ได้เคยตามเสด็จลงไปลองปืนที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ได้บรรจุกระสุนปืนใหญ่ยิงออกไปทางปากอ่าวจากป้อมผีเสื้อสมุทร
------------------------------------------------------------------
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ