เจดีย์ หมายถึง สิ่งที่ก่อสร้างในพุทธศาสนา อันควรแก่การเคารพบูชา ที่ทั้งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุหรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเป็นที่ระลึก
พระสมุทรเจดีย์สร้างเพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุและเป็นที่ระลึกดังกล่าวมาข้างต้น เป็นรูปแบบทรงระฆัง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นการก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทาด้วยสีน้ำปูน ไม่มีลวดลายปูนปั้นประดับ แต่มีลวดรายกระเบื้องเคลือบประดับอยู่บริเวณฐานอยู่บ้าง ตามความนิยมของรูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์
เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ทรงระฆัง รูปแบบทรงกลมอย่างสุโขทัย สถูปอื่นที่มีรูปทรงร่วมสมัยกัน ได้แก่ สถูปภูเขาทอง วัดสระเกศ และเจดีย์ทองในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น
องค์ระฆังเด่น โดยมีแท่นฐานรองรับอยู่ส่วนล่าง เหนือองค์ระฆังเป็นส่วนยอด มีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมและทรงกรวยเป็นปล้องไฉนและปลี
ตอนล่างซึ่งเป็นฐานประทักษิณหรือฐานทักษิณ เป็นพื้นที่สำหรับเดินเวียนประทักษิณคือเดินเวียนขวานมัสการเจดีย์ได้ ทำเป็นสองระดับ ติดต่อกันด้วยบันไดทั้งสองระดับ และมีบันไดขึ้นสู่องค์เจดีย์ด้านทิศตะวันออก, ตะวันตก
ตอนกลางที่เป็นองค์เรือนธาตุหรือเรือนธาตุไม่มีห้องหรือคูหา มีองค์ระฆังเป็นส่วนกลาง มีลักษณะทรงคล้ายระฆังหรือลอมฟาง ไม่มีย่อมุม เป็นทรงระฆังกลม
มีซุ้มบูชา ที่ฐานทั้งสี่ทิศ คือด้านทิศเหนือ-ใต้-ตะวันออกและตะวันตก สลับระหว่างเจดีย์ประจำมุมหรือเจดีย์ประจำทิศ ตำแหน่งของเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่หรือทิศทั้งสี่ของเจดีย์ประธานมีขนาดเล็ก ทรงกลม
แท่นบัลลังก์เป็นแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยมเหนือองค์ระฆัง
เสาหาน เป็นเสาเล็กๆ ตั้งเรียงรายบนบัลลังก์รับน้ำหนักของปล้องไฉน ที่สะกดว่า เสาหาน ต่างไปจาก เสาหาร ว่าหมายถึงเสาลูกแก้ว ด้วยคำว่าเสาหารตัดคำมาจากเสาพิหาร นอกจากนี้บางแห่งเรียกตามลักษณะว่า (เสา)ลูกมะหวด
ส่วนปล้องๆ คล้ายปี่ไฉน เรียกว่า ปล้องไฉน ตั้งเป็นส่วนยอดของเจดีย์ รูปแบบดั้งเดิมวิวัฒนาการมาว่าคือ ฉัตรหรือร่มที่เป็นชั้นซ้อนกัน ใบฉัตรแต่ละใบเรียงลำดับลดหลั่นขึ้นไปมีด้านหรือแกนยึด ต่อมาคลี่คลาย ยึดเป็นทรงกรวยสูง ใบฉัตรร่นเข้าชิดกันดูเป็นปล้องคล้ายปล้องของปี่ไฉนซึ่งเป็นที่มาของชื่อปล้องไฉน
กรวยยอดสุดของเจดีย์เป็นปลี คล้ายปลีกล้วย เหนือปลียอดสุดของเจดีย์ เป็นลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้าง
ส่วนล่างสุดของฐานเจาะเป็นซุ้มช่อง ๔๐ ช่องโดยรอบ แต่ละช่องซุ้มมีช้างยืนหันหน้าออก