| กลับ |

ความเป็นมา

           พระสมุทรเจดีย์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  พระเจดีย์กลางน้ำ  ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ   อันเป็นรูปองค์พระสมุทรเจดีย์ที่มีน้ำล้อมรอบ   เป็นตราประจำจังหวัดสมุทรปราการ  และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนองค์พระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘

พระสมุทรเจดีย์  เริ่มสร้างเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จมาสร้างเมืองสมุทรปราการเมื่อ  พ.ศ.๒๓๖๕   ในครั้งนั้นพระองค์ทอดพระเนตรเห็นหาดทรายที่งอกอยู่ท้ายเกาะผีเสื้อสมุทร  ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นในบริเวณนั้น  โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้อำนวยการสร้าง  เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์  ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงเป็นธุระจัดการสร้างพระสมุทรเจดีย์ต่อไปตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา  โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมราชกับพระยาพระคลังเป็นแม่กองในการก่อสร้าง  ใช้ชาวลาวที่ติดตามเจ้าอนุวงศ์มาพระราชทานเพลิงศพพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นแรงงานขนต้นตาลมาจากเพชรบุรีมาฝังเป็นฐานรากของพระเจดีย์

           การสร้างพระสมุทรเจดีย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอังคารขึ้น  ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ (๓๐ ตุลาคม ๒๓๗๐) สร้างเสร็จในวันพุธขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (๒๘ ตุลาคม ๒๓๗๑) รวมใช้เวลาในการก่อสร้างนาน ๗ เดือน ๕ วัน
           พระสมุทรเจดีย์ที่สร้างในครั้งนั้นเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง   ฐานล่างกว้างด้านละ  ๑๐  วา  สูงจากฐานล่างขึ้นไปถึงยอด ๑๓ วา ๓ ศอก  ไม่ใช่รูปทรงที่เห็นในปัจจุบัน   โดยใช้เงินทุนในการสร้างประมาณ  ๒๓๓ ชั่ง

           ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้องค์พระเจดีย์มีความสูงสง่าขึ้นไปอีก  เพื่อให้เรือที่เข้ามาจากอ่าวไทยได้แลเห็นโดยชัดเจนสมกับเป็นเมืองพุทธศาสนา  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ลอมฟางมาจากพระนครศรีอยุธยา
           ภายในองค์พระสมุทรเจดีย์เดิมนั้น  ได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย  แต่ถูกคนร้ายลักลอบขุดขโมยไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๓  จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้น   จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๑๒  องค์  จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้แทน  เมื่อวันอาทิตย์แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ (๓๐ ธันวาคม ๒๔๐๓)


| กลับ | บน |